หมวดหมู่: วิเคราะห์-การเมือง

เร่งเลือกตั้ง? จัดแถวกองทัพ ฝุ่นควัน'ถอดถอน'

 



วิเคราะห์ มติชนออนไลน์ :

      แม้การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยมติของที่ประชุม สนช. 190-18 เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยการตระเตรียมอย่างลงตัว

    บางกระแสข่าวยังระบุว่า จะให้มีคะแนนถอดถอนมากกว่านี้ยังได้ แต่เกรงว่าจะดูเป็นการกดปุ่มกันมากเกินไป

   อาการของ สนช.ที่ถ่ายภาพคู่กับบอร์ดคะแนนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ สนช.บางคนทำท่าเชือดคอ บางคนออกแอ๊กชั่น สะท้อนความปลาบปลื้มในผลงานที่เชื่อกันว่าเป็นการขจัดคนโกงออกจากการเมือง 

    แต่ผลที่ตามมาหลังการถอดถอนสร้างความลำบากใจให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น้อย 

     เป็นภาพที่ตัดกับความยินดีปรีดาของ สนช. อย่างตรงกันข้าม เมื่อ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐ เดินทางมาเยือนไทย

พร้อมกับปล่อยหมัดชุด หลังการพบปะกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.

ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.การต่างประเทศ และไปบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สาระโดยรวมระบุว่า สหรัฐกังวลที่มีการถอดถอนผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง การถอดถอนบุคคลที่พ้นตำแหน่งไปแล้วโดยสภาที่มาจากลากตั้ง ทำให้รู้สึกว่าการถอดถอนเกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจทางการเมือง

พูดง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องการเมืองนั่นเอง 

พร้อมกับเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว 

ผลที่ตามมาคือการตอบโต้อย่างรุนแรง จากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ซัดหนักๆ ว่าสหรัฐฟังความข้างเดียว จะไม่เลิกกฎอัยการศึก และยังเล่าว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ได้ถามนายรัสเซลกลับไปว่า หากเป็นสหรัฐบ้างจะทำอย่างไร 

ส่วน สนช.ในฐานะเจ้าภาพงานถอดถอนอดีตนายกฯ

ยิ่งลักษณ์ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจ 

เรียงหน้ากันออกมา ตั้งแต่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ประธาน กมธ.ต่างประเทศ สนช. และหน่วยงานอื่นๆ 

ในที่ประชุมมี สนช.บางคนอภิปรายจวกพี่เบิ้มแห่งโลกตะวันตกว่า "เสือก" 

เบื้องหน้าเบื้องหลังท่าทีของสหรัฐเข้าใจได้ว่า เป็นผลจากแนวนโยบายที่ชูสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของ

สหรัฐเอง 

ขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยถูกปฏิเสธจากโลกตะวันตกภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และมีความโน้มเอียงในการคบหาสมาคมและร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์การค้าและการเมืองของสหรัฐในย่านนี้

กลายเป็น 2 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศขาใหญ่อย่างลุงแซมลงมาจัดหนักรัฐบาลนายกฯลุงบิ๊กตู่ 

การปรากฏขึ้นของสหรัฐช่วยส่งเสริมบรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์การถอดถอนให้มีความคึกคักมากขึ้น 

แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง-การถอดถอน จนตามมาด้วยการเรียกตัวแกนนำพรรคเพื่อไทยล็อตใหญ่เพื่อขอความร่วมมือ

มีตั้งแต่ นายสิงห์ทอง บัวชุม ทีมกฎหมายของ น.ส.

ยิ่งลักษณ์ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ แกนนำเสื้อแดงขอนแก่น 

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.การต่างประเทศ ที่ร่วมในวงพบปะระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายรัสเซล 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาฯ นายพิชัย 

นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ และ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการและแกนนำคนเสื้อแดง 

ผลการเจรจาขอความร่วมมือน่าจะทำให้ความเงียบกลับคืนมาอีกครั้ง แต่ก็ยังตั้งความหวังไม่ได้ว่าทุกอย่างจะสงบเรียบร้อย

ผลจากการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำให้เชื่อกันว่า การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว อย่างน้อยก็ตามโรดแมป นั่นคือต้นปี 2559 

จากเดิมที่คาดว่าอาจจะต้องลากยาวออกไป

ท่ามกลางข่าวสะพัดว่าอดีต ส.ส.ประเภทที่ฐานเสียงหนาแน่นกำลังเนื้อหอม เพราะโดนทาบทามเข้าร่วมในพรรคการเมืองใหม่ 

ภาพของการเลือกตั้งในวันเวลาดังกล่าวภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ แชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทยจะไม่มีดาวเด่นของพรรคลงสมัคร เนื่องจากติดบ่วงทางกฎหมาย

น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นหมดสิทธิแน่นอนไปแล้ว ที่ยังต้องลุ้นได้แก่ อดีต ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีคดีรอถอดถอนอยู่ 

ยังมีกรณีของชาวบ้านเลขที่ 109-111 ซึ่งหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สั่งห้ามผู้เคยต้องคำสั่งเว้นวรรคมาก่อนไม่ให้ลงสมัคร ก็จะหมดสิทธิไปด้วย 

และภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะกำหนดวิธีการเลือกตั้งใหม่ คงไม่เป็นผลดีกับพรรคเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทยหรือ ปชป. 

ก็ต้องจับตาดูว่า พรรคการเมืองใหม่ที่จะมารับภารกิจสำคัญจะเกิดขึ้นอย่างไร ด้วยโฉมหน้าสวยหรูขนาดไหน

และจะทำหน้าที่อุ้มใครเข้าสู่เก้าอี้นายกฯ 

อย่างไรก็ตาม กำหนดการเลือกตั้งและคืนอำนาจตามโรดแมปก็ยังไม่ง่ายดายนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยตัวแปรที่ต้องพิจารณาอีกหลายเรื่อง

ที่ต้องจับตาได้แก่ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารกลางปีในเดือนเมษายน และการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ในเดือนกันยายน เพื่อทำหน้าที่แทน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่จะเกษียณอายุราชการ 

คู่แคนดิเดตสำคัญ คือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ.คนที่สอง น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ 

ก่อนหน้านี้มีการปล่อยข่าวจี้ให้นายทหารที่สวมหมวกรัฐมนตรีด้วย สละตำแหน่งในกองทัพเพื่อเปิดทางให้น้องๆ บ้าง ออกมาชิมลางกันแล้ว 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านการบริหารงานของรัฐบาลที่ปรากฏว่าสภาพปัญหาต่างๆ หนักหน่วง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ทำเอาบรรดาขุนพลหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความเครียด 

ในสถานการณ์นี้ต้องจับตาท่าทีของบรรดา "คีย์แมน" ต่างๆ เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ออกมากล่าวว่าประเทศไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง

รวมไปถึงอาการฟิวส์ขาดบ่อยๆของ พล.อ.ประยุทธ์

เป็นสภาพการเมืองที่ตึงเครียดและมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!